หลังการผ่าตัดสร้างทวารเทียม

แนวทางการดูแลตนเองในช่วง 3 เดือนแรกหลังการผ่าตัด

หลังการผ่าตัดในช่วงแรก คุณอาจรู้สึกกังวลใจและมีคำถามมากมายเกี่ยวกับถุงรองรับสิ่งขับถ่ายที่ติดอยู่บนหน้าท้อง พยาบาลด้านการดูแลทวารเทียมจะเป็นผู้ให้คำตอบและสอนข้อมูลพื้นฐานที่จำเป็นเกี่ยวกับการดูแลตนเอง การเปลี่ยนอุปกรณ์และการปรับกิจวัตรประจำวันให้เหมาะสม เพื่อให้คุณมั่นใจว่าเมื่อกลับไปที่บ้านคุณก็สามารถดูแลทวารเทียมด้วยตนเองได้ สิ่งสำคัญที่สุด คือ การเปิดใจเพื่อเรียนรู้และปรับตัว ไม่นานคุณก็จะพบว่าการมีทวารเทียมไม่ได้แย่อย่างที่เคยคิดไว้ แล้วในที่สุดคุณก็จะกลับไปทำกิจกรรมที่ต้องการได้ใกล้เคียงเดิม

ในหัวข้อนี้จะมุ่งเน้นเรื่องการดูแลทวารเทียมเบื้องต้น นั่นคือ การดูแลผิวรอบทวารเทียมให้มีสุขภาพดีและแนวทางการปรับตัวเพื่อให้คุ้นเคยกับการขับถ่ายด้วยทวารเทียม ในช่วง 3เดือนแรกหลังการผ่าตัด

สร้างความคุ้นเคยกับทวารเทียม

การดูแลผิวรอบทวารเทียมให้มีสุขภาพดี

ปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้แป้นติดกับผิวหนังได้ดี คือ การดูแลผิวรอบทวารเทียมอย่างถูกต้องเพื่อให้ผิวมีสุขภาพดี ซึ่งจะส่งเสริมให้คุณใช้ชีวิตได้อย่างสุขสบาย

ลักษณะภายนอกของทวารเทียมเป็นอย่างไร และทวารเทียมมีความรู้สึกหรือไม่?

เมื่อคุณฟื้นขึ้นมาจากการผ่าตัด คุณจะพบว่ามีถุงรองรับอุจจาระติดอยู่บนหน้าท้อง พยาบาลมักจะใช้ถุงรองรับแบบใสติดที่ให้คุณในช่วงแรก เพื่อให้พยาบาลประเมินการทำงานของทวารเทียมและสิ่งขับถ่ายได้ง่าย นอกจากนี้คุณอาจมีสายน้ำเกลือหรือสายระบายอื่นๆติดอยู่กับร่างกาย ถือเป็นเรื่องปกติ

ลักษณะภายนอกของทวารเทียมที่ปกติ คือ มีสีแดงและชุ่มชื้น คล้ายกับเยื่อบุข้างกระพุ้งแก้มในช่องปาก หลังการผ่าตัดทันทีทวารเทียมจะบวมและมีขนาดใหญ่ เมื่อเวลาผ่านไปทวารเทียมจะค่อยๆยุบบวมและมีขนาดเล็กลงลง เมื่อครบ 6 - 8 สัปดาห์ ทวารเทียมก็จะมีขนาดคงที่ ทวารเทียมไม่มีเส้นประสาทจึงไม่มีความรู้สึกใดๆและไม่เจ็บ แต่ถ้ากระแทกหรือกดแรงๆก็จะทำให้ทวารเทียมเกิดบาดแผลขึ้นได้ ดังนั้นจะต้องสัมผัสทวารเทียมเทียมอย่างเบามือ โดยเฉพาะเวลาทำความสะอาด ถ้าหากมีเลือดซึมรอบนอกของทวารเทียม แนะนำให้ใช้ผ้าสะอาดกดลงไปเบาๆ ไม่นานเลือดก็มักจะหยุดไปได้เอง

ทวารเทียมจะเริ่มทำงานได้หลังจากการผ่าตัดเสร็จเพียงไม่นาน สิ่งขับถ่ายที่ออกมาจากทวารเทียมในช่วงแรกจะมีกลิ่นแรงและค่อนข้างเหลว แต่ลำไส้จะค่อยๆปรับตัวและอุจจาระจะค่อยๆข้นหนืดขึ้นจนกระทั่งจับเป็นก้อน กลิ่นที่รุนแรงจะค่อยๆลดลงจนอยู่ในเกณฑ์ปกติ ระหว่างนี้แพทย์จะประเมินและให้คำแนะนำว่าคุณควรเริ่มรับประทานอาหารชนิดใด อย่างไรและควรดื่มน้ำปริมาณเท่าใด เพื่อให้เหมาะสมกับการฟื้นตัวของร่างกาย

สิ่งที่อาจเกิดขึ้นได้ในช่วงแรกหลังการผ่าตัด คือ มีเสียงโครกครากดังมาจากทวารเทียม รู้สึกปวดเบ่งหรือมีเมือกขับออกมาจากทวารหนัก เมื่อเวลาผ่านไปสักระยะหนึ่งอาการเหล่านี้มักจะค่อยๆบรรเทาลงไปเอง.

ในกรณีที่คุณมียูรอสโตมี (ทวารเทียมระบบปัสสาวะ) ทวารเทียมจะทำงานได้ทันทีหลังจากผ่าตัดเสร็จ ปัสสาวะที่ขับออกมาในช่วงแรกจะมีสีค่อนข้างแดงแต่เมื่อเวลาผ่านไปสักระยะหนึ่ง สีของปัสสาวะก็จะกลับมาเป็นปกติ ท่อที่สอดในยูรอสโตมี (ทวารเทียมระบบปัสสาวะ) จะถูกนำออกไปภายใน 7-10 วัน

ฉันจะเรียนรู้เรื่องการปรับตัวเมื่อมีทวารเทียมได้จากที่ไหน ?

พยาบาลด้านการดูแลทวารเทียมจะเป็นผู้ให้คำแนะนำทุกอย่างเกี่ยวกับทวารเทียม เช่น วิธีปรับกิจวัตรประจำวันให้เหมาะสมกับการขับถ่ายทางทวารเทียม การเปลี่ยนอุปกรณ์ การดูแลทวารเทียม หากคุณมีข้อสงสัยอื่นๆเกี่ยวกับการปรับตัวปรับใจเมื่อมีทวารเทียมก็สามารถสอบถามกับพยาบาลได้

ช่วงแรกหลังจากการผ่าตัด พยาบาลด้านการดูแลทวารเทียมจะมุ่งเน้นเรื่องการให้ข้อมูลที่สำคัญต่อการดูแลตนเองที่บ้าน เพื่อให้มั่นใจว่าคุณสามารถปรับกิจวัตรประจำวันและดูแลทวารเทียมได้ การเชิญบุคคลใกล้ชิด เช่น สามี ภรรยา บุตร ญาติ มาเรียนรู้พร้อมกับคุณก็จะช่วยส่งเสริมความมั่นใจให้กับคุณได้

พยาบาลจะให้ข้อมูลที่สำคัญต่อการดูแลตนเองที่บ้าน ดังนี้:

  • กิจวัตรประจำวันเพื่อสุขอนามัยที่ดีเมื่อขับถ่ายทางทวารเทียม และอาการไม่พึงประสงค์ที่ต้องเฝ้าระวัง
  • วิธีเบิกหรือสั่งซื้ออุปกรณ์รองรับสิ่งขับถ่ายและอุปกรณ์เสริมที่จำเป็น
  • สิทธิ์ของคนไข้ในด้านการเบิกจ่ายอุปกรณ์สำหรับทวารเทียมและโครงการต่างๆที่ช่วยเหลือผู้มีทวารเทียม
  • การปรับตัวเมื่อมีทวารเทียม เช่น การทานอาหารและเครื่องดื่ม, การเข้าสังคม, การเดินทางและเพศสัมพันธ์
  • ชื่อและเบอร์โทรของพยาบาลที่สามารถติดต่อได้ในกรณีที่เกิดฉุกเฉิน
  • กลุ่มสังคมของผู้มีทวารเทียม เพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้

ความกังวลใจ

เป็นธรรมดาที่คุณอาจมีความกังวลใจเมื่อต้องเรียนรู้สิ่งใหม่ที่เป็นเรื่องละเอียดอ่อน ดังนั้น คุณควรให้เวลาตัวเองปรับตัวและเปิดใจเรียนรู้ หากมีคำถามก็ควรปรึกษากับพยาบาลด้านการดูแลทวารเทียม เพื่อเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับการดูแลตัวเองต่อที่บ้าน

ก่อนออกจากโรงพยาบาล พยาบาลจะแจ้งนัดหมายเพื่อติดตามความสามารถในการดูแลทวารเทียมรวมถึงความสามารถในการปรับตัวในการใช้ชีวิตประจำวัน เพื่อให้คุณมั่นใจว่าคุณจะมีคนคอยให้คำปรึกษาอยู่เสมอ

ความท้าทายใหม่ๆที่ต้องพบเจอ

ในช่วงแรกที่กลับบ้าน คุณอาจรู้สึกว่าขับถ่ายทางทวารเทียมเป็นเรื่องที่ใหม่และมีปัญหาเข้ามาท้าทายทุกวัน หากคุณต้องการใครสักคน อย่าลืมว่ายังมีพยาบาลด้านการดูแลทวารเทียมและ

ทีมผู้เชี่ยวชาญของ โคโลพลาสต์ แคร์ พร้อมจะอยู่เคียงข้างและรับฟังคุณเสมอ

 

ควรบอกใครบ้างและควรเริ่มอย่างไร เมื่อมีทวารเทียม

คำถามที่คนส่วนใหญ่อยากทราบ คือ เมื่อมีทวารเทียมแล้วฉันควรบอกใครบ้างและควรเริ่มอย่างไร

เรื่องนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อนและเป็นข้อมูลส่วนบุคคล คุณจะเลือกบอกกับใครก็ได้ ตราบเท่าที่คุณรู้สึกสบายใจที่ได้บอกออกไป คุณอาจเริ่มต้นบทสนทนาด้วยการเล่าถึงสาเหตุของการผ่าตัดสร้างทวารเทียมแล้วปิดท้ายด้วยการบอกว่า "ตอนนี้ฉันมีถุงรองรับสิ่งขับถ่ายติดอยู่ที่หน้าท้องนะ" หรือคุณอาจจะบอกสั้นๆเพียงแค่ว่า "ตอนนี้ฉันขับถ่ายผ่านทางทวารเทียมนะ" ก็ได้

ครอบครัวและเพื่อน

สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ การบอกให้บุคคลใกล้ชิดทราบและเข้าใจว่าคุณมีทวารเทียม เพื่อให้พวกเขาให้กำลังใจและช่วยสนับสนุนการปรับกิจวัตรประจำวันให้เหมาะสมกับการขับถ่ายทางทวารเทียม

บุตรหรือหลาน

หากคุณมีบุตรหรือหลานที่อยู่ในวัยเด็ก การบอกแบบตรงๆว่าคุณขับถ่ายทางทวารเทียมจะช่วยให้พวกเขาเข้าใจได้ง่ายที่สุด การปกปิดหรือหลีกเลี่ยงที่จะพูดถึงทวารเทียมอาจทำให้เด็กๆคิดไปเองว่าคุณกำลังตกอยู่ในสถานการณ์ที่ร้ายแรงกว่าความเป็นจริง

เพื่อนร่วมงาน

คุณควรบอกให้เพื่อนร่วมงานอย่างน้อย 1 คน ทราบว่าคุณขับถ่ายทางทวารเทียม เผื่อในกรณีเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินในที่ทำงานจะได้ดูแลได้อย่างทันท่วงที

ความหมายของคำศัพท์เกี่ยวกับอุปกรณ์รองรับสิ่งขับถ่ายจากทวารเทียม

การใช้ชีวิตเมื่อมีทวารเทียมถือเป็นเริ่มต้นวิถีชีวิตแบบใหม่ เนื้อหาต่อไปจะเป็นการอธิบายความหมายของคำศัพท์เกี่ยวกับอุปกรณ์รองรับสิ่งขับถ่ายจากทวารเทียม

เพื่อให้คุณสื่อสารกับพยาบาลด้านการดูแลทวารเทียมได้อย่างเข้าใจ

แถบกาว: แป้นด้านหนึ่งจะมีแถบกาวที่ใช้เพื่อยึดแป้นให้ติดกับหน้าท้อง แถบกาวจะต้องติดแนบสนิทกับผิวรอบทวารเทียมตลอดเวลา เพื่อปกป้องผิวหนังจากสิ่งขับถ่าย

แป้น: เป็นส่วนประกอบของอุปกรณ์รองรับสิ่งขับถ่ายระบบถุงสองชิ้น มีด้านหนึ่งเป็นแถบกาวที่ใช้ติดกับผิวหนัง อีกด้านหนึ่งเป็นวงแหวนที่ใช้ติดกับถุงรองรับสิ่งขับถ่าย

ระบบล็อคสองชั้น: มีอยู่ในอุปกรณ์รองรับสิ่งขับถ่ายระบบถุงสองชิ้นเท่านั้น มีไว้สำหรับล็อคถุงให้ติดกับแป้นอย่างแน่นหนา หรือปลดล็อคเพื่อเปลี่ยนถุงใบใหม่โดยไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนแป้น

แป้นถ้วย: เป็นแป้นที่ฝั่งหนึ่งมีรูปทรงนูนขึ้น เหมาะสำหรับผู้ที่มีทวารต่ำ เพื่อเพิ่มแรงกดเล็กน้อยให้กับผิวรอบทวารเทียม

แถบกาวเหนียวมากเป็นพิเศษ: เหมาะกับผู้ที่มีสิ่งขับถ่ายค่อนข้างเหลวหรือเป็นน้ำ เช่น ผู้ที่มียูรอสโตมี (ทวารเทียมระบบปัสสาวะ)แลอิลิออสโตมี (ทวารเทียมระบบลำไส้เล็ก) หรือมีสิ่งขับถ่ายปริมาณมาก.

ตัวกรอง: ทวารเทียมไม่เพียงแต่ขับอุจจาระออกมาเท่านั้น แต่ยังขับลมออกมาด้วย ตัวกรองที่ติดมากับถุงรองรับอุจจาระจะช่วยกรองกลิ่นอันไม่พึงประสงค์และระบายลมออกจากถุง เพื่อส่งเสริมความมั่นใจว่าถุงจะไม่ป่อง (อาจเรียกทับศัพท์ว่า บอลลูนนิ่ง) และผู้คนรอบข้างจะไม่ได้กลิ่นอันไม่พึงประสงค์

ลิ้นป้องกันปัสสาวะไหลย้อนกลับ:ถุงรองรับปัสสาวะจะมีลิ้นป้องกันปัสสาวะไหลย้อนกลับเพื่อป้องกันการติดเชื้อ

ลงทะเบียนสมัครโครงการ โคโลพลาสต์® แคร์

โคโลพลาสต์® แคร์สร้างความแตกต่างได้อย่างไร

  • ให้คำแนะนำที่เชื่อถือได้
  • ทบทวนความเข้าใจเกี่ยวกับวิธีดูแลทวารเทียมที่คุณได้เรียนรู้มาจากพยาบาลในโรงพยาบาลที่เข้ารับการรักษา
  • ให้คำแนะนำวิธีใช้อุปกรณ์อย่างถูกวิธี
  • ให้ตัวอย่างผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง

เมื่อมีทวารเทียม อาจทำให้การใช้ชีวิตเปลี่ยนแปลงไป     

โทรปรึกษาเราได้ที่ +090-596-2888 

เราทีมมีผู้เชี่ยวชาญคอยให้คำแนะนำผ่านทางโทรศัพท์